วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2551

วันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

Lineage II : Dark Elf 1/6 Scale Resin Cast kit (4)

ตอนสุดท้ายสำหรับขั้นตอนการทำ Dark Elf ครับ.





Step 10. ในส่วนบริเวณต้นขา ใช้สีเงินเบอร์ 8 + สีดำเงาเบอร์ 2 ในอัตราส่วน 80:20 ทาให้ทั่วตามลายโดยดูจากรูปข้อมูลที่มี หลังจากเสร็จแล้ว จึงเติมสีเงินเบอร์ 8 เพิ่มลงไปอีกสัก 15% แล้วทาเน้นเฉพาะบริเวณสันนูนอีกครั้ง เพื่อเพิ่มมิติสว่าง เช่นเดียวกันอาจเติมสีดำเงาเบอร์2 ลงไปเพิ่มอีกสัก 15%(จากสีเดิมตอนแรก) แล้วทาบริเวณร่องลึกเพื่อเน้นมิติสีที่เข้มเข้าไปอีกก็ได้.



Step 10-1. นำสีทองเบอร์ 9 มาทาแต้มบริเวณที่กำหนดว่าเป็นสีทองเพิ่มเติม ในกรณีที่บริเวณนั้นมีพื้นที่กว้างควรใช้วิธีบังเทปแล้วพ่นจะทำให้งานดูเรียบร้อยขึ้น.



Step 11. หลังจากนั้นก็ทำการเขียนตาและคิ้วให้เรียบร้อย สีของตาใช้เบอร์34 ผสมขาวสักเล็กน้อย ขั้นตอนนี้ต้องใจเย็นสักหน่อยนะครับ.



Step 12. ในส่วนของดาบใช้สีเงินเบอร์ 8 พ่นให้ทั่ง แล้วทาเก็บลายด้วยสีดำเบอร์ 92
หลังจากนั้นทำการพ่นเคลือบเงาโดยทั่วของชุด เพื่อป้องกันการหลุดลอกง่ายของสีทอง แต่การเคลือบเงานั้นจะทำให้สีทองและเงินหมองลงไปจากเดิม ดังนั้นถ้าอยากให้สียังดูสดเป็นประกายอยู่ก็ต้องแต้มเพิ่มบางๆตามลายเดิมอีกครั้ง. เสร็จแล้วตรวจเช็คความเรียบร้อยของชิ้นงานทั้งหมดเพื่อเตรียมประกอบ.



สุดท้ายเมื่อทำการประกอบเสร็จ หาฐานสวยๆมาวางให้โมเดลยืนก็เป็นอันเรียบร้อย.



หวังว่าขั้นตอนในการทำนั้น คงไม่ทำให้สับสนจนเกินไปนะครับ สนใจชมงานทำสีเสร็จแบบรีวิวก็เข้าไปที่ Garage kit Talk ได้เลยครับ.

วันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2551

Lineage II : Dark Elf 1/6 Scale Resin Cast kit (3)

มาดูขั้นตอนต่อไปสำหรับ การทำ Dark Elf เป็นตอนที่3 ครับ.



Step 9. หลังจากที่ทาเก็บในส่วนสีทองของชุดเรียบร้อยแล้ว ก็นำสีขาวเบอร์ 1 ทาให้ทั่วบริเวณในส่วนที่เป็นร่องเนื้อของชุด เพื่อเป็นการรองพื้นก่อนทำสีเนื้อ.



Step 9-1. แล้วจึงนำสีเนื้อเดิมที่ใช้สำหรับทำร่องเข้มหรือไฮไลท์ในขั้นตอนที่ผ่านมา ทาทับสีขาวอีกครั้งโดยเน้นให้เป็นน้ำสี(ผสมทินเนอร์ให้ค่อนข้างใส).



Step 9-2. หลังจากสีแห้งดีแล้วจึงนำสีเนื้อเดิมที่เคยใช้เป็นสีเนื้อหลัก หรือที่เคยพ่นโอเวอร์สเปรย์ในส่วนสีเนื้อมาแล้ว
ทำการแต้มทับในส่วนกลางๆของบริเวณช่องเนื้อทั้งหมดอีกครั้ง โดนเน้นแบบน้ำสีเช่นกัน.


Step 9-3. หลังจากนั้นจึงนำสีเก่า(น้ำเงิน+ดำ) ที่เคยใช้การทาเก็บชุด มาทาเก็บอีกครั้งให้เรียบร้อย.

วันอังคารที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2551

Lineage II : Dark Elf 1/6 Scale Resin Cast kit (2)

มาสานต่อ Dark Elf ครับ หลังจากทำค้างไว้ร่วม 4 เดือน



Step 4. หลังจากพ่นสีขาวเพื่อรองพื้นในส่วนที่เป็นเนื้อเรียบร้อยแล้ว ก็นำสีขาวด้านเบอร์ 62 มาผสมกับสีเทาเบอร์ 11 ในอัตราส่วน 60 : 40 ผสมทินเนอร์ให้สีออกใสสักเล็กน้อย
แล้วใช้พู่กันทาเฉพาะตามร่องผมต่างๆให้ทั่ว รวมทั้งชิ้นผมหน้าด้วย.



Step 4-1. หลังจากทาเสร็จแล้วให้นำสีขาวด้านเบอร์62มาผสมกับสีขาวมันเบอร์1
และสีเทาเบอร์11 ในอัตราส่วน 40:40:20 แล่วจึงพ่นคลุมในส่วนผมให้ทั่ว
รวมถึงผมหน้าด้วย โดยพ่นแบบโอเวอร์สเปรย์ คือพ่นบางๆแต่ครอบคลุมให้ทั่ว.



Step 4-2. หลังจากนั้นนำสีเดิมที่พ่นมาผสมสีขาวมันเบอร์1 เพิ่มเข้าไปอีกประมาณ 30% ผสมทินเนอร์ให้สีใสสักเล็กน้อย แล้วจึงนำมาแต้มในส่วนสันนูนของผม (พยายามไม่ไห้โดนร่องผมที่มีสีเข้ม) เน้นการแต้มแบบป้ายพู่กัน โดยป้ายสีให้ไปทางเดียวกันกับทางผม (อย่าป้ายสีตามขวางทางของผม)
หลังจากนั้นใช้สีขาวเบอร์1 ผสมสีให้ใสเล็กน้อยแต้มเพิ่ม
ในบางจุดที่เน้นเป็นจุดสันนูนที่สุดของผม เพื่อให้เป็นสีผมในส่วนที่สว่างที่สุด.
และเช่นเดียวกันผสมสีเดิมที่เป็นสีผมหลักให้เข้มโดยการเติมสีเบอร์11
ลงไปพร้อมแต้มในจุดที่เป็นร่องลึกที่สุด เพื่อที่จะได้เป็นสีผมในมิติที่มีส่วนลึกที่สุด

เมื่อสีแห้วสนิทดีแล้วจึงทำการบังเทปบริเวนผมทั้งหมด เพื่อเตรียมการพ่นสีเนื้อต่อไป.



Step 5. นำสีเนื้อเบอร์ 51 กับสีเนื้อเบอร์ 111 และเคลียร์ส้มเบอร์49 มาผสมกันในอัตราส่วน 30:65:5 และผสมทินเนอร์ให้สีมีลักษณะใสพอสมควร แล้วจึงนำไปพ่นรีดในร่องลึกต่างๆในส่วนที่เป็นเนื้อ เสร็จแล้วจึงพ่นแบบโอเวอร์สเปรย์ทับในส่วนสีเนื้อทั้งหมดอีกครั้ง.



Step 5-1. เติมสีเคลียร์ส้มเบอร์49 ทีละน้อยในสีเนื้อเดิมแล้วทดลองพ่นแบบโอเวอร์สเปรย์คลุมทั่วๆ ในส่วนที่เป็นเนื้อทั้งหมด ทำซ้ำจนสีเนื้อได้น้ำ้หนักจนเป็นที่พอใจ อาจมีการพ่นเน้นเฉพาะในส่วนลึกเพื่อช่วยให้น้ำหนักเข้มชัดขึ้น และอาจพ่นให้โดนในส่วนสันนูนให้น้อยเื่พื่อสร้างน้ำหนักสว่างไปในตัวได้ในขั้นตอนนี้.

Step 6. เมื่อสีเนื้อแห้งดีแล้ว จึงทำการบังเทปหรืออาจใช้ Masking Sol (น้ำยากันสี) ช่วยทาในส่วนที่เป็นซอกมุม เพื่อเตรียมการพ่นสีในส่วนของชุด.


Step 7.นำสีดำเงาเบอร์2 พ่นในส่วนที่เป็นชุดให้ทั่ว แล้วจึงนำสีน้ำเงินเบอร์ 5 มาพ่นทับ โดยอาจพ่นเน้นมากๆในส่วนที่เป็นสันนูน เพื่อสร้างส่วนที่สว่างที่สุด และพ่นในส่วนซอกลึกให้โดนแค่เล็กน้อย เพื่อสร้างน้ำหนักสีชุดที่เข้มสุด ซึ่งอาจใช้วิธี นำสีดำเงาเบอร์ 2 มาพ่นไล่ตามซอกอีกทีก็ได้ เมื่อสีแห้งแล้ว จึงแกะเทปและ Masking Sol ออก แล้วจึงทาเก็บรายละเอียดของสีชุดที่ไม่เรียบร้อยอีกที.



Step 8. แล้วก็มาถึงขั้นตอนที่ใช้เวลานานสุดคือการทาเก็บรายละเอียดในส่วนของชุด โดยใช้สีทองเบอร์9 และสีเงินเบอร์ 8 ขั้นตอนนนี้ต้องค่อยๆทำ ควรทาสีทองและเงินบางๆ ซ้ำไปมาประมาณ 3 เที่ยว โดยแต่ละเที่ยวต้องรอให้สีแห้งดีก่อนจึงทาซ้ำ ในกรณีที่ทาสีออกมาเกินเส้นที่ต้องการ ให้นำสีน้ำเงินเบอร์ 5 มาผสมกับสีดำเงาเบอร์1 ในอัตราส่วน 80:20 แล้วทาเก็บในส่วนที่เกินอีกครั้ง ในขั้นตอนนี้ต้องหาข้อมูลในส่วนของลายผ้ามาเป็นแบบให้ชัดทุกมุมเท่าที่ทำได้.

ในส่วนของเกราะไหล่จะมีส่วนที่เป็นสีแดง ให้ใช้สีเงินเบอร์ 8 ทาลงไปก่อน เมื่อสีแห้งดีแล้วให้นำสีเคลียร์แดงเบอร์ 47 ทาทับอีกที(อย่าทาทับไปมาหลายที เพราะสีแดงจะไปละลายสีเงินที่เป็นพื้นออกมาผสมกันได้) ในกรณีนี้ถ้าใช้สีเคลียร์แดงอีนาเมลของทามิย่าก็จะสะดวกมากขึ้น เพราะจะไม่ทำละลายสีเงินที่ทาลงไปก่อนออกมา และใช้วิธีเดียวกันตรงจี้สีแดงที่คอ.

ทาเก็บเล็บด้วยสีเนื้อเบอร์ 112 ผสมสีมุกสักเล็กน้อย แล้วอาจจะนำสีมุกมาทาทับเน้นอีกทีก็ได้.

บริเวณปากให้ใช้สีเนื้อเดิมที่เคยใช้เป็นน้ำหนักเข้ม(พ่นตามซอก)ของสีเนื้อ มาผสมสี
เคลียร์แดงเบอร์ 47
ทาเกลี่ยให้ได้รูปโดยให้น้ำหนักและมิติที่เหมาะสม แนะว่าอย่าทาเสมอกันทั้งริมฝีปาก อาจเติมสีน้ำเงินเบอร์ 5 เข้าไปเล็กน้อยเพื่อแต้มบริเวณร่องปากด้านในสุด.

To be continued......


วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

Project 2 ( Asuka & Motorcycle Ver.2 )




Lineage II : Dark Elf 1/6 Scale Resin Cast kit (1)

เนื่องจากรับ Order ทำสีมาจากลูกค้าพอดี สำหรับ Model Dark Elf จากเกมส์ Lineage II จึงได้โอกาสนำเสนอวิธีการทำแบบ Step By Step ประเดิมเป็นตัวแรกให้ชาว ThaiModellerGroup ได้ชมครับ.


เริ่มต้นด้วยการหาข้อมูลสำหรับตัวที่จะทำสีก่อน จากรูปจะเห็น 2รูปซ้ายมือบน ถ้าจำไม่ผิดจะเป็นฝีมือจาก Modeller ชาวยุโรป 2รูปขวามือจะเป็น งาน PVC ทำสีสำเร็จ และ 2รูปล่างจะเป็นงานทำสีจากผู้ผลิตสินค้าชิ้นนี้เอง.


หลังจากที่ตัดสินใจได้ว่าเลือกทำสไตล์แบบไหนแล้ว ก็พยายามหาข้อมูลให้มากที่สุด ให้ได้ทุกด้านทุกมุมเลยยิ่งดี ในกรณีนี้ผมเลือกทำตามแบบของเจ้าของผู้ผลิตชิ้นงานนี้เลย เพราะโดยส่วนตัวเห็นแล้วสวยถูกใจที่สุด แต่จริงๆแล้วก็ยังเก็บข้อมูลของแบบอื่นไว้ดูเหมือนกันเผื่อว่ามีจุดไหนบางจุดที่ดูดี
จะได้นำมาประยุกต์ใช้.




Step 1. เมื่อหาข้อมูลที่ต้องการได้เรียบร้อยแล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนการทำโมเดล
ในขั้นแรกต้องตรวจเช็คชิ้นส่วนให้ครบตามใบประกอบที่แนบมา ถ้าสินค้าที่ซื้อไม่มีใบประกอบแนบมาให้ แสดงว่าโอกาสที่ชิ้นส่วนไม่ครบนั้นจะมีสูงทีเดียว ดังนั้นท่านต้องหาข้อมูลเองว่าชิ้นส่วนมีครบหรือไม่ (สินค้าที่ดีควรมีใบประกอบแนบมาด้วยทุกครั้ง) เมื่อทำการตรวจเช็คเรียบร้อยแล้ว ก็นำโมเดลไปล้างน้ำยาล้างจานพร้อมกับทำให้แห้ง.



Step 2. เมื่อชิ้นงานแห้งเรียบร้อยแล้ว จึงทำการฝังแกนหรือเดือยให้ครบทุกชิ้นส่วน ส่วนไหนที่คิดว่าประกอบได้เลยโดยที่ทำสีไม่ลำบาก ก็ประกอบติดกาวได้เลย ดังภาพที่เห็นจะทำการประกอปขาข้างนึงกับลำตัวก่อน เพื่อที่ต้องการให้รอยต่อแนบสนิท แล้วจึงทำการพ่นรองพื้นเพื่อตรวจสอบตำหนิของชิ้นงาน พร้อมลงมือขัดแต่งชิ้นงานให้เรียบร้อย
(โมเดลที่ดีไม่ควรมีตำหนิจำพวกตามดหรือรูฟองอากาศเกิน 10 แห่ง ถ้าเกินกว่านั้นอาจเป็นสินค้ามีตำหนิหรือจัดว่าเป็นสินค้าด้อยคุณภาพ).



Step 2-1.ให้ฝังแกนหลักในขาที่ต้องใช้รับน้ำหนักให้ลึกพอ สำหรับตัวนี้ใช้ลวดเชื่อมทองเหลืองฝังเข้าที่ขาหลักที่ยืนโดยฝังลึกเข้าไปประมาณ 2 นิ้ว ภาพที่เห็นคือโมเดลที่ผ่านขั้นตอนการฝังแกนหลัก และได้ทำการอุดขัดพร้อมพ่นรองพื้นเรียบร้อย.



Step 3. ำชิ้นส่วนที่เป็นส่วนสีเนื้อไปพ่นสีขาวเพื่อรองพื้นเสียก่อน เพราะจะทำให้สีเนื้อที่จะพ่นลงไปในทีหลังจะได้ไม่หมอง โดยพ่นสีขาวให้ทั่วทุกซอกมุมในส่วนที่จะต้องเป็นสีเนื้อ.

To be continued......